ผมยินดีที่ได้นำเสนอผลงานของอาจารย์ประพันธ์ พิพัฒนสุข อดีด อ.3 ระดับ 9 กรมอาชีวศึกษา คนแรกของประเทศไทย
ที่ได้ระดับ 9 ท่านที่ติดตามคงยืนยันในผลงานที่สามารถจับต้องได้จริง โดยเฉพาะเครื่องแอมป์หลอด ที่อาจารย์
ได้วางรูปแบบและวงจรเอาไว้ เมื่อได้นำเอาไปสร้างแอมป์หลอดจริง โดยทำตามรูปแบบของอาจารย์อย่างเคร่งครัด
ผมรับรองได้ว่า
1.ใช้ได้จริง
2.เสียงดีเกินวงจรอื่น ๆ เสียงเบสมา ลึกด้วย
3. เงียบจนสงัด แม้จะเอาหูแนบลำโพงก็ไม่ได้ยินสัญญาณรบกวน ข้อนี้จะหาได้ยาก
4. ไม่จำเป็นต้องติดตั้ง Filter choke เลย ไม่มีจี่ ฮัมโดยเด็ดขาด ประหยัดค่าโช๊คได้ 700-1,000บาท
5. กินกระแสน้อย ประมาณ 39-57 % ของความสามารถรับได้ของเพลต ไม่เปลืองไฟ และสำคัญสุด
คือหลอดทนใช้ได้ยาวนาน เปิดทั้งวันหม้อแปลง แค่มีอุณหภูมินิด ๆ
ที่ผมกล้ารับรองเพราะได้ทดลองซ้ำ หลายครั้ง แต่ละวงจร วันนี้จะนำเสนอวงจร 6L6 เป็นอีกวงจรที่อาจารย์เขียนไว้
ใครอ่านให้ดี และทำตามอย่างเคร่งครัด จะพบวิธีตาม 5 ข้อ ข้างบนอย่างแน่นอน
อ.นิคม พ. นำเสนอโดยไม่ได้ตัดทอนข้อเขียน ของอาจารย์ประพันธ์ พิพัฒนสุข ออก เหมือนต้นฉบับทุกประการ
————————-
แอมป์หลอด ฟีดแบคโทนคอนโทรล
ประพันธ์ พิพัฒนสุข
ในการประกอบแอมป์หลอด จุดหมายปลายทางคือต้องการให้เครื่องที่ประกอบเสร็จแล้วนั้นมีคุณภาพของเสียงตอบสนอง
ความถี่ต่างๆ ได้ดีที่สุด เป็นที่พึงพอใจของผู้เป็นเจ้าของเครื่อง แอมป์หลอดที่นำมาประกอบนั้นวงจรหลักโดยทั่วไป
ก็จะมีเลือกทำคือซิงเกิลเอ็นต์ กับพุช-พูล และจะต้องมีวงจรโทนคอนโทรลที่สามารถความคุมเสียงทุ้ม เสียงกลาง
และเสียงแหลม ได้อย่างดีเยี่ยม โทนคอนโทรลก็มีหลายรูปแบบส่วนมากนิยมทำอยู่ระหว่างภาคปรีแอมป์กับไดรฟ์เวอร์
ในบทความนี้จะนำเสนอวิธีการใหม่นำเอาสัญญาณฟีดแบคมาทำเป็นโทนคอนโทรล เพื่อให้ท่านทดลองทำแล้ว
นำมาเปรียบเทียบผลว่าการทำโทนคอนโทรลแบบแรกกับแบบฟีดแบคอย่างไหนจะทำให้ท่านพึงพอใจมากที่สุด
ฟีดแบคโทนคอนโทรล คำว่าฟีดแบค (Feed black) หมายถึงการย้อนกลับ ในงานอิเล็กทรอนิกส์หมายถึง สัญญาณป้อนกลับ
เรียกว่าฟีดแบคซิกแนล ส่วนโทนคอนโทรล หมายถึงการปรับปรุงแต่งระดับเสียงทุ้มเสียงกลางและเสียงแหลม ดังนั้น
ฟีดแบคโทนคอนโทรลก็คือ การออกแบบวงจรที่นำเอาสัญญาณป้อนกลับมาควบคุมการปรับเสียง ทุ้ม, กลาง และแหลม
จากการทดสอบคุณภาพของเสียงแล้วแม้ว่าจะเป็นวงจรซิงเกิลเอ็นต์ 15 วัตต์และใช้หลอดตลาดทั่วไป 12AX7 และ 6L6
คุณภาพของเสียงจากการตรวจด้วยเครื่องมือวัดสัญญาณ และจากผู้มาทดสอบ เป็นที่ยอมรับว่าสามารถตอบสนองความถี่ต่างๆ
ได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อว่าวงจรง่ายๆ อุปกรณ์ก็มีไม่มากแต่ให้คูณภาพเสียงถือได้ว่าอยู่ในระดับดีมาก
วงจรแอมป์หลอดที่นำมาแนะนำในบทความนี้ จะเป็นวงจรซิงเกิลเอนต์ 15 วัตต์ เป็นวงจรพื้นฐานทั่วๆ ไปมาทำเป็นเครื่องต้นแบบ
โดยแบ่งวงจรออกเป็นภาคต่างๆ ดังนี้
1. ภาคขยายภาคแรกหรือปรีแอมป์
2. ภาคไดรฟ์เวอร์
3. ภาคขยายสุดท้าย หรือ เอาต์พุต
4. ภาคจ่ายไฟ
วงจรซิงเกิลเอนต์ ฟีดแบคโทนคอนโทรล
วงจรขยายภาคแรกหรือปรีแอมป์ วงจรนี้จะเป็นการขยายสัญญาณภาคแรก และนำมาอธิบายเพียงด้านเดียวหรือแบบโมโน
เมื่อสัญญาณเสียงจากแหล่งต่างๆ มาเข้าที่อินพุต จะผ่านตัวต้านทาน R1 (10k Ω) มาผ่านตัวต้านทานปรับค่าได้ VR1 (100k Ω)
เพื่อเร่ง – ลดสัญญาณอินพุต สัญญาณ จะผ่านตัวต้านทาน R2 (10k Ω) เป็นตัวลดการกระชากของสัญญาณ และสัญญาณ
จะเข้าที่ขากริด (ขา2) ของหลอด 12 AX7 ส่วนที่ 1 เมื่อองค์ประกอบของหลอดถูกต้อง สัญญาณจะขยายออกที่ขาเพลต (ขา1)
ผ่าน ซี-คับปลิ้ง C1 (0.1µF) ส่งไปภาคไดรฟ์เวอร์ต่อไป
องค์ประกอบที่สำคัญที่ควรรู้ของภาคปรีแอมป์ หลอดที่นำมาใช้คือหลอด เบอร์ 12AX7 หลอดนี้เป็นหลอด TWIN TRIODE คือ
มีหลอดไตรโอด 2 หลอดบรรจุรวมอยู่ในหลอดเดียว กำหนดให้เป็นส่วนที่ หนึ่งคือ ขา 1 คือ เพลต ขา 2 คือ กริด ขา 3 คือ
แคโทด (ส่วนที่สองจะไปใช้เป็นหลอดไดรฟ์เวอร์)
ในบทความนี้อยากจะขอแนะนำให้ผู้ที่เริ่มเรียน หรือเป็นมือใหม่สำหรับเรื่องหลอดเกี่ยวกับความรู้ทางพื้นฐานก่อน โดยในวงจร
จะมีอุปกรณ์หลักที่จะต้องทำความเข้าใจ ขาหลอดแต่ละขามีอุปกรณ์หลักชื่ออะไรและทำหน้าที่อย่างไร โดยผู้เขียนจะเรียก
ชื่ออุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
ขาเพลต มีตัวต้านทาน ต่อกับแหล่งจ่ายไฟ ตัวต้านทานนี้เรียกว่า “เพลตโหลดรีซีสเตอร์”
ขากริด มีตัวต้านทานต่อลงกราวด์ ตัวต้านทานนี้เรียกว่า “กริด ไบอัส”
ขาแคโทด มีตัวต้านทานต่อลงกราวด์ ตัวต้านทานนี้เรียกว่า “แคโทดไบอัส ”
การที่เราสามารถรู้จักชื่ออุปกรณ์ประจำขาหลอดแต่ละขา จะช่วยให้เราจดจำวงจรได้ง่ายขึ้น ต่อจากนั้นเมื่อทราบชื่ออุปกรณ์
แต่ละตัวแล้ว ควรรู้จักหน้าที่ของอุปกรณ์นั้นๆ จะทำให้เราวิเคราะห์วงจรการทำงานได้ง่ายขึ้น และจะมีหลักการที่ชัดเจน
ในการแก้ปัญหาในกรณีที่วงจรไม่ทำงาน จากวงจรรูปที่ 2 วงจรภาคปรีแอมป์จะมีอุปกรณ์หลักมีชื่อและการทำงาน ดังนี้
R4 (470 K) เป็นกริด ไบอัส ทำหน้าที่กำหนดแรงไฟของกริด
R5 (1 K) เป็นแคโทดไบอัส ทำหน้าที่ กำหนอแรงไฟของแคโทด
R6 (470 k) เป็นเพลต โหลดรีซิสเตอร์ ทำหน้าที่รับแรงไฟ + B แล้วกำหนดแรงไฟไปเลี้ยงขาเพลต และนำเอาสัญญาณ
ที่ถูกขยายมาตกคร่อม ต่อจากนั้นสัญญาณในส่วนนี้ จะถ่ายทอดผ่านตัวเก็บประจุเรียกว่า ซี-คัปปลิ้ง (C2) เพื่อส่งไปยังภาคไดรฟ์
เวอร์ ในลำดับต่อไป
ในทางปฏิบัติ จากการทำงานของหลอดตามวงจรจริง เมื่อทดลองวัดแรงดันไฟจากวงจรต้นแบบ ในสภาวะปกติที่เครื่องสามารถ
ทำงานได้ วัดแรงดันไฟจุดสำคัญต่างๆ ไว้เพื่อเป็นข้อมูลในเบื้องต้นว่าถ้าหลอดนี้ในสภาวะปกติ แต่ละขาจะมีแรงดันไฟได้ดังนี้
ขา 1 ขาเพลต วัดได้ 50 โวลต์
ขา 2 ขา กริด วัดได้ 0 โวลต์
ขา 3 ขาแคโทด วัดได้ 5 โวลต์
ภาคไดรฟ์เวอร์ เป็นภาคขยายกำลังครั้งที่สอง เมื่อภาคปรีแอมป์ทำการขยายสัญญาณจะถูกส่งมาให้ภาคไดรฟ์เวอร์ทำการขยาย
อีกครั้ง เพื่อให้กำลังของสัญญาณเพียงพอต่อความต้องการของภาคขยายสุดท้าย เพื่อไม่ให้การขยายผิดพลาด ทางด้านอินพุต
หรือทางเข้าของภาคไดรฟ์เวอร์จะมีการควบคุมความแรงโดยใช้ความต้านทาน VR 2 ขนาด 250 kΩ ต่อจากนั้นสัญญาณ
ก็จะเข้าสู่วงจรไดรฟ์เวอร์
วงจรไดรฟ์เวอร์จะใช้หลอด 12AX7 ส่วนที่ 2 การทำงานภาคไดรฟ์เวอร์ เมื่อสัญญาณผ่านตัวต้านทานปรับค่าได้ VR2 สัญญาณ
จะเข้ามาที่ขากริด (ขา 7) ถ้าองค์ประกอบของหลอดถูกต้องทุกประการ สัญญาณก็จะขยายออกไปที่ขาเพลต (ขา 6) เพื่อส่งผ่าน
ซี-คัปปลิ้ง (C5 = 0.1 µF) ถ่ายทอดกำลังของสัญญาณให้ภาคขยายสุดท้ายต่อไป โดยองค์ประกอบของภาคไดรฟ์เวอร์
ที่ควรทราบมีดังนี้
R7 (100K Ω) เรียกว่า เพลตโหลดรีซีสเตอร์ ทำหน้าที่รับแรงดันไฟ +B3 มาผ่านเพลตโหลด แล้วแรงดันไฟนี้จะมาเลี้ยงขาเพลต
C5 (0.1µF) เรียกว่า ซี-คัปปลิ้ง ทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณจากไดรฟ์เวอร์ ไปยังภาคขยายสุดท้าย
*หมายเหตุ ตัวต้านทานปรับค่าได้ VR 2 อาจจะไม่ต้องใช้ก็ได้ เพราะการปรับความแรงของสัญญาณสามารถทำได้ที่ตัวต้านทาน
VR1 ที่ภาคปรีแอมป์อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ใช้ตัวต้านทานปรับค่าได้ VR2 วงจรกริดของหลอดนี้จะต้องมีกริดไบอัสเข้ามาแทน
R8 และ R9 (500Ω + 500Ω) เรียกว่าแคโทดไบอัส เป็นตัวกำหนดแรงดันไฟของแคโทด สังเกตให้ดี จุดกึ่งกลางระหว่าง R8
และ R9 เป็นทางเข้าของสัญญาณฟีดแบคซิกแนล ที่จะมาควบคุมแคโทดไบอัส ซึ่งการปรับความแรงของสัญญาณฟีดแบค
จะควบคุมระดับเสียง ทุ้ม กลาง และแหลม
ในทางปฏิบัติ การทำงานของหลอดตามวงจรจริง เมื่อทดลองวัดแรงดันไฟจากวงจรต้นแบบในสภาวะปกติที่เครื่องสามารถ
ทำงาน วัดแรงดันไฟจุดสำคัญต่างๆ ไว้เพื่อเป็นข้อมูลในเบื้องต้นว่าถ้าหลอดนี้ในสภาวะปกติ แต่ละขาจะมีแรงดันไฟได้ดังนี้
ขา 6 ขาเพลต สามารถวัดได้ 110 โวลต์
ขา 7 ขากริด สามารถวัดได้ 0 โวลต์
ขา 8 ขาแคโทด สามารถวัดได้ 1.5 โวลต์
ภาคขยายสุดท้าย ภาคขยายสุดท้ายหรือภาคเอาต์พุต จะใช้หลอดเพนโทต (Pentode) เบอร์ 6 L6 การทำงานจะนำเอา
สัญญาณ จากภาคไดรฟ์เวอร์ มาขยายอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย ในซิงเกิลเอ็นต์จะใช้หลอดขยายเพียงหลอดเดียว
ขั้นตอนการทำงานของวงจรภาคขยายสุดท้าย คือ สัญญาณจากภาคไดรฟ์เวอร์ จะมาผ่าน ซี-คัปปลิ้ง (C5) แล้วถ่ายทอด
สัญญาณมาเข้าขากริด (ขา 5) ถ้าองค์ประกอบต่างๆ ถูกต้องหลอดจะขยายสัญญาณออกไปที่ขาเพลต (ขา 3)
เพื่อส่งต่อไปยังหม้อแปลงเอาต์พุต แล้วเอาต์พุตจะถ่ายทอดสัญญาณออกไปยังลำโพง
พิจารณาองค์ประกอบที่สำคัญ ของภาคขยายสุดท้าย
T1 เป็นหม้อแปลงเอาต์พุต นับว่าเป็นเพลตโหลด โดยหม้อแปลงเอาต์พุต จะมีขดลวด 2 ขด คือ ขดเข้า (5K – 0)และขดออก
(0Ω – 8Ω – 16Ω)
R10 (470 K) เป็นกริดไบอัส ทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดแรงดันไฟขากริด
R 11 (250Ω) เป็นแคโทดไบอัส ทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดแรงดันไฟขาแคโทด
C6 (47 µF)เป็นแคโทดไบอัส ทำงานร่วมกับตัวต้านทาน R11
ในทางปฏิบัติ จากการทำงานของหลอดภาคขยายสุดท้ายใช้หลอด 6L6 ในสภาวะปกติ เมื่อทดลองวัดแรงไฟจากวงจรต้นแบบ
ในสภาวะปกติที่เครื่องสามารถทำงานได้ วัดแรงดันไฟจุดสำคัญต่างๆ ไว้เพื่อเป็นข้อมูลในเบื้องต้นว่าถ้าหลอดนี้ในสภาวะปกติ
แต่ละขาจะมีแรงดันไฟได้ดังนี้
ขา 3 ขาเพลต สามารถวัดค่าได้ 240 โวลต์
ขา 4 ขาสกรีน สามารถวัดค่าได้ 220 โวลต์
ขา 5 ขากริด สามารถวัดค่าได้ 0 โวลต์
ขา 8 ขาแคโทด สามารถวัดค่าได้ 13 โวลต์
ภาคจ่ายไฟ หรือเพาเวอร์ซัพพราย (Power Supply) ภาคนี้จะทำหน้าที่จ่ายแรงดันไฟกระแสตรงหรือไฟดีซี ไปเลี้ยงโหลดต่างๆ
ภายในเครื่อง โดยมีแรงดันไฟออกไปใช้งานหลายระดับดังนี้
+B1 (250 vdc) คือแรงดันไฟดีซีที่มีค่ามากที่สุดที่วงจรทำงานได้ โดยแรงดันไฟส่วนนี้จะไปเลี้ยงภาคขยายสุดท้าย
+B2 (230 vdc) คือแรงดันไฟดีซี ที่มีค่าต่ำกว่า +B1 แรงดันไฟส่วนนี้จะไปเลี้ยงภาคขยายสุดท้าย
+B3 (170 Vdc) คือแรงดันไฟที่มีค่าต่ำกว่า +B2 แรงไฟส่วนนี้จะไปเลี้ยงภาคปรีแอมป์และไดรฟ์เวอร์
การทำงานของภาคจ่ายไฟ เริ่มต้นที่ไฟกระแสสลับ 220 โวลต์ หรือไฟบ้านมาผ่านสวิตซ์ปิด-เปิด, ผ่านฟิวส์ มาเข้าหม้อแปลง
ไฟด้านขดปฐมภูมิ หรือขดไฟเข้า หม้อแปลงไฟก็จะทำงาน ทำให้เกิดการชักนำแรงดันไฟขึ้นที่ขดทุติยภูมิหรือขดไฟออก
ในส่วนของขดไฟออกนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ชุด ดังนี้
ชุดที่หนึ่ง (A) คือขด 0 – 220 VAC จะเข้าสู่วงจรเร็กติฟายเออร์ โดยใช้บริดจ์ไดโอด (BD1) จะทำการเปลี่ยนแรงดันไฟ
จากกระแสสลับ (AC) เป็นกระแสตรง (DC) ทำให้ได้ไฟกระแสตรง 250 VDC โดยแรงดันไฟขณะนี้ยังไม่เรียบพอที่จะนำ
ไปใช้งานได้ จะต้องผ่านวงจรกรองกระแส หรือเรียกว่าวงจรฟิลเตอร์ประกอบด้วย ซี-ฟิลเตอร์ (C8, C9, C10, C11)
แต่ละตัวมีค่าเท่ากับ 100 µF อัตราทนแรงดันไฟ 600 V และ ตัวต้านทาน R13 (250Ω), R14 (5K), R15 (100K)
จะทำให้ได้ไฟกระแสตรงไปเลี้ยงโหลดต่างๆ
+B1 = 250 VDC เป็นแรงดันไฟที่สูงมากที่สุดในวงจร ทำหน้าที่ไปเลี้ยงโหลดภาคขยายสุดท้ายไปยังเอาต์พุต
+B2 = 230 VDC แรงดันไฟจุดนี้จะต่ำกว่า + B1 ทำหน้าที่ไปเลี้ยงหลอดขยายสุดท้ายที่ขาสกรีนกริด
+B3 = 170 VDC แรงดันไฟจุดนี้จะต่ำกว่า +B2 ทำหน้าที่ไปเลี้ยงวงจร ปรีแอมป์และไดรฟ์เวอร์
ชุดที่สอง (B) เป็นแรงไฟจุดไส้หลอด 6.3 โวลต์ (6.3 VAC) จะไปจุดไส้หลอด 6L6 และ 12AX7
โทนคอนโทรล หมายถึง การปรับระดับระดับสัญญาณความถี่ต่ำ (เสียงทุ้ม), ความถี่กลาง (เสียงกลาง) และความถี่สูง
(เสียงแหลม) ของวงจรทั่วไปส่วนมากจะเห็นได้ว่าวงจรโทนคอนโทรล จะดำเนินการโดยการใช้วงจรโลว์ฟาสฟิลเตอร์
(Low-Pass Filter) ให้ความถี่ต่ำผ่านได้ และวงจรไฮพาสฟิลเตอร์ (High-Pass Filter) ให้ความถี่สูงผ่านได้ โดยมีตัวต้านทาน
ปรับค่าได้ปรับความแรงของสัญญาณมากน้อยตามต้องการ เมื่อผ่านวงจรปรับระดับ ความถี่ต่ำและสูงแล้ว สัญญาณจะมารวมเข้า
ด้วยกัน จากนั้นจะป้อนเข้าสู่ภาคไดรฟ์เวอร์ต่อไป
วิธีการของฟีดแบคโทนคอนโทรล
จะนำเอาสัญญาณ ฟีดแบคซิกแนล (Feedback signal) มาทำเป็นโทนคอนโทรล ก่อนอื่นต้องทราบว่า สัญญาณฟีดแบค
คือสัญญาณที่ถูกขยายออกไปที่หม้อแปลงเอาต์พุตแล้ว นำไปต่อให้กับลำโพง (8 Ω) ส่วนขั้วหนึ่งของลำโพงจะต่อลงกราวด์
ในส่วนของหม้อแปลงเอาต์พุตยังมีจุดต่อลำโพง (16 Ω) เหลืออยู่ จุดนี้จะเป็นฟีดแบคซิกแนล นำสัญญาจุดนี้ย้อนกลับ
ไปควบคุมการทำงานภาคไดรฟ์เวอร์
รูปที่ 8 การนำสัญญาณฟีดแบค มาทำโทนคอนโทรล
จากรูป 8 ที่หม้อแปลงเอาต์พุต (16 Ω) สัญญาณฟีดแบคจะสวิงมากน้อยตามความแรงของสัญญาณเสียง โดยสัญญาณ
จะย้อนมาเข้าที่แคโทดไบอัสของหลอดไดรฟ์เวอร์ ตามขั้นตอนคือ ผ่านตัวเก็บประจุ C7 (0.1 µF) ผ่านตัวค้านทาน R12 (10K)
มาผ่านตัวต้านทานปรับค่าได้ VR3 (10K) และตัวต้านทาน R16 (5K) มาต่อเข้าที่กึ่งกลางระหว่างตัวต้านทาน R8 และ R9
เมื่อปรับ VR3 จะทำให้แรงดันไฟของแคโทดเปลี่ยนแปลง ซึ่งแรงดันไฟที่แคโทดที่เปลี่ยนแปลงนี้เอง จะส่งผลให้ยกระดับ
ความถี่ต่ำ, กลาง และ สูงได้ นี้คือวิธีการทำฟีดแบคโทนคอนโทรล สำหรับท่านที่สนใจจะทำวิธีนี้ไปทดลองทำ ค่าอุปกรณ์ต่างๆ
ในวงจร อาจจะปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมกับวงจรของท่าน และการนำฟีดแบคซิกแนลมาใช้งานในลักษณะนี้สามารถ
ยกระดับความถี่ต่างๆ ที่ต้องการได้ผลดีมากระดับหนึ่งด้วย
วิธีการทดสอบว่าฟีดแบคโทนคอนโทรลทำงานหรือไม่
เมื่อต้องการทดสอบว่าฟีดแบคโทนคอนโทรลทำงานได้หรือไม่นั้น สามารถทดสอบได้ดังนี้
1. ทำการบัดกรีเอาสายสัญญาณฟีดแบค ตรงตัวต้านทาน R16 ออกจาก จุดต่อกึ่งกลางระหว่างตัวต้านทาน R5 และ R6
ออกลอยไว้
2. เปิดเครื่องให้ทำงานตามปกติ โดยป้อนสัญญาณเสียงทางอินพุต จะเป็นสัญญาณจากเครื่องเล่น ซีดี ทดลองฟังเสียง
ระยะเวลาหนึ่ง โดยไม่ต้องสนใจว่าเสียงจะดีหรือไม่ดี
3. ขณะที่เปิดเครื่องอยู่นั้นให้นำสายที่ถอดออกในข้อที่ 1 จี้เข้าไปจากจุดเดิม สังเกตว่าเสียงเปลี่ยนแปลงหรือไม่
4. จากข้อ 3 ถ้าเสียงเปลี่ยนแปลงก็แสดงว่า ฟีดแบคทำงาน โดยเสียงที่เปลี่ยนแปลงนั้นจะปรากฏว่าเสียงจะออกเป็น
เสียงทุ้มมาก นั้นแสดงว่าฟีดแบคทำงานแน่นอน
5. จากข้อ 3 ถ้าเสียงไม่เปลี่ยนแปลงเลย ให้ตรวจสอบตั้งแต่จุดเริ่มต้นสัญญาณฟีดแบค คือ ที่หม้อแปลงเอาต์พุต (16 Ω)
ผ่านตัวเก็บประจุ C7 ตัวต้านทาน R12, R16 และตัวต้านทานปรับค่าได้ VR3 ว่าจุดใดจุดหนึ่งอาจชำรุดได้ ให้ดำเนินการแก้ไข
แล้วตรวจสอบสัญญาณฟีดแบคอีกครั้ง
ในทางปฏิบัติ เนื่องจากตัวต้านทาน VR3 มักไม่ค่อยได้ปรับอีก หลังจากทำการปรับเสียงทุ้ม, กลาง และแหลม ดังนั้นการติดตั้ง
VR3 มักจะติดใต้แท่นตรงจุดที่ใกล้วงจรหลอดขยายสุดท้าย หรือถ้าต้องการจะสามารถปรับได้ตลอดเวลาก็ควรจะติด VR3
ด้านข้างแท่นเครื่องแทน
จากบทความนี้แทบไม่น่าเชื่อว่าเสียงที่ได้ยินจากวงจรซิงเกิลเอนต์ธรรมดาไม่ได้สลับซับซ้อน และมีอุปกรณ์เพียงน้อยนิด
จะสามารถตอบสนองความถี่ต่างๆ ได้ดีมากเกินความคาดหมาย ถือเป็นข้อสังเกตให้นัก DIY มือใหม่ ว่าเครื่องที่มีอุปกรณ์
ไม่มากนักและเป็นวงจรง่ายๆ ก็สามารถสร้างเป็นชิ้นงานที่มีคุณภาพสูงได้ ขอเพียงเข้าใจในวงจร และปรับปรุงได้เหมาะสม
ก็พอแล้ว.
อ้างอิง : http://www.semi-journal.com/%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B9%8C%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94-%E0%B8%9F%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AF/
อ.นิคม พ. เรียบเรียง