ทำแอมป์หลอดเครื่องใหม่ 807SE ใช้หลอด 12au7 เป็นหลอดไดร์ว มีภาพตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ

807SE_12au7

ใช้หลอด 807 เป็นเพาเวอร์ 2 หลอด  ใช้ 12au7 จนวน 2 หลอดเป็น หลอด ไดร์ว  ใช้แท่นอลูมิเนียม แบบกล่องพับ เจาะรู ขัดพ่นสีดำ
ใช้หม้อเอาพุท ZP 54K tab UL  จำนวน 2 ตัว หม้อแปลง ไฟสูง 270,250-0-250,270v  250mA ไฟต่ำ 6.3v 4A 3.15v-0-3.15v 2 A
,5v 3A  จำนวน 1 ตัว  คาปาซิเตอร์กรองไฟ 4 ตัว มีแบบน้ำมัน 1 ตัว
ลงมือ วันที่อาทิตย์ที่ 7 กรกฏาคม 2562 เวลา 10.30 น. หลังจากทำแท่น เจาะรู พ่นสี มา 1 อาทิตย์

ลงมือ วันที่อาทิตย์ที่ 7 กรกฏาคม 2562 เวลา 10.30 น. หลังจากทำแท่น เจาะรู พ่นสี มา 1 อาทิตย์
จัดอุปกรณ์ ตามวงจรให้ครบทั้ง R C
1.ใส่ หม้อ ทั้ง 3 ลงในตำแหน่ง
1.1. หม้อแปลงขนาด ไฟสูง 270,250-0-250,270 250mA ไฟต่ำ 6.3v 4A ,3.15v 2A,5v 3A
1.2.หม้อเอาท์พุท ขนาด ZP 5K tab UL 2 ตัว
ลงตำแหน่งโดยร้อยน๊อต ตัวละ 4 รู โดยเฉพาะหม้อแปลงไฟให้มี 1 รูเป็นที่ลงกราวนด์แท่น
โดยร้อยห่วงต่อกับสายกราวนด์ใหญ่ลงแท่น
2.จัดการใช้สาย คู่ขาว ฟ้า ขาว 270-0-270v เอาสาย 0 ลงดินแท่นบัดกรีไว้กีบห่วงวงแหวน
2.1 ใช้ diode เบอร์ 10A10 MIC 2 ตัวใช้สายขาวทั้งสองสายเข้าปลายทางลบ ส่วนด้านบวก(ที่มีขีด)
ให้รวบเข้ากันเป็นที่ออกของไฟ+ จัดการยึดไดโอดกับที่พักสายให้แน่นหนา
2.2 ใช้ คาปาซิเตอร์ จำนวน 4 ตัว เป็น in oil 1ตัว ใช้ใกล้กับไดโอด เป็นตัวแรก เพื่อให้ไฟนิ่ง ไม่มีก็ไม่เป็นไร
ตัวที่ 2 ค่าต้องมากพอสมควร เช่นในกรณีนี้ ใช้ 1. 20uf/450v in oil 2. 220uf/500v 3. 20uf/500v 4. 20uf/500v
เพราะตัวที่สองเป็นตัวจ่ายไฟให้หลอดเพาเวอร์ ต้องมากให้แรงเร็วอย่างต่อเนื่อง ถ้าค่าน้อยอาจขาดตอนเบสไม่ลอย

3.จัดการเรื่องไฟจุดไส้หลอด
3.1 ไฟจุดไส้หลอดชุดแรก 6.3v 4A ใช้กับหลอดเพาเวอร์ เพราะกินกระแสหลอดละ .9 mA รวม 2 หลอก ก็ 2A
และต้องเผื่อไว้ 1 เท่า เสมอ
เดินสายจากสายไฟ6.3 v ที่มากับหม้อแปลงยาวพอดีตามเส้นทางที่ลัดสั้นไม่โค้งอ้อม โดยตีเกลียวสายขนาด 1 มม.
พันขวั้นเหมือนเกลียวเชือกยิ่งดี บัดกรีให้เรียบร้อย
3.2 ไฟจุดไส้หลอดชุดหน้า หลอดเล็ก กินกระแสหลอดละ .15A สองหลอด ก็ .3A ใช้ขด 3.15v-0-3.15v
เอาไฟมาต่ออนุกรม จะได้ 6.3 v แล้วไปต่อขา 4+5 และ ขา 9 ของหลอดตระกูล 12xx7 …
ตกม้าตายตรงนี้ตั้งนานเพราะ อัลกอลิทึ่ม สับสน แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี
4. เมื่อต่อเสร็จ ตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้ง ขอฝากมือใหม่เอาไว้ว่า จะต้องรีเช็คอย่างน้อย 1-3 ครั้ง โดยทิ้งระยะห่างจากเดิม
ประมาณ 1-3 ชั่วโมง หากมีพี่เลี้ยงรีเช็คให้ยิ่งปลอดภัย แต่ถ้าไม่มีเพราะเป็นศิลปินเดี่ยวเหมือนผู้เขียนก็ต้อใช้กฏความห่างของเวลา
เพราะตอนที่เราทำเสร็จนั้นเราจะเบลอแล้ว ดูอะไรตาลายแล้ว
5. กลั้นใจสับสวิทซ์ครั้งที่ 1ในขณะที่มิเตอร์จับที่ ไฟขั้วบวกของคาปาตัวแรก ว่ามาเท่าไหร่ ถ้ามาเท่ากับที่เราคำนวณในใจ คร่าว ๆ ก็ไชโย..
ผ่านไป 1 เปาะที่อันตรายที่สุด พ้นจากเสียงดังไม่พึงประสงค์ เช่นดัง ปรุ…บางทีอาจมีควัน ยิ่งหนักไปเลย
6. ให้ตั้งมิเตอร์วัดไฟดังนี้
6.1 ตั้งมิเตอร์ (DIGITAL)DC 1000V สายดำ จับไว้ที่กราวนด์แท่น หาปากคีบๆให้แน่นเลย
สายแดง ใช้ปลายจี้มที่ขั้วบวกคาปา ตัวที่ 1 อ่านค่า ได้เท่าไหร่ จดไว้ คาปา ตัวที่ 2.. 3..4 ได้ค่าเท่าไร จดไว้
ตรงนี้อย่าไปคิดว่า ทำไม ๆ ๆ ๆ ไม่ได้เท่ากับที่วงจรกำหนด ยัง ครับ ได้เท่าไหร่ช่างมัน เพราะมันยังไม่มีโหลดเลย
บางทีวัดแต่ละครั้งไม่เท่ากันเลย อย่าไปสนใจ ขอแค่หม้อไม่ควัน ไม่ร้องไม่สั่น ก็โอเคแล้ว
6.2 ตั้งมิเตอร์ไปที่ AC 750 v เอาสายดำและสายแดงมาถือในมือไม่ต้องไปคีบไว้ที่ใด ๆ คราวนี้ใช้สายดำจับที่ขั้ว
ใดก็ได้ของสายไฟจุดไส้หลอดเพาเวอร์ แล้วเอาสายแดงจิ้มอีกขั้ว อ่านค่า ได้ 6.3 v ไหม ถ้าได้ ก็จบ แล้วย้ายไปภาคหลอดเล็ก
ให้สายดำจับที่ขั้วใดขั้วหนึ่งเหมือนกัน แล้วใช้สายแดงจิ้มที่อีกขั้ว อ่านค่า ถ้าได้ 6.3-7 v ก็จบ… อธิบายว่า จำได้ไหม
ไฟจุดไส้หลอดภาคนี้เอามาจาก 3.15v-0-3.15v บางทีผู้พันอาจยังไม่หายเมา เลยแถมแรงดันมาให้ก็ได้ แต่ไม่เกิน 7 โวลท์
ยอมรับได้ อีกอย่างระวังตอนตั้งมิเตอร์ต้องเป็น AC เท่านั้น และอีกอย่างอย่าไปวัดเทียบกับกราวนด์เครื่อง มันจะเพี้ยนไปใหญ่
ถ้ามีโอกาสจะอธิบายส่วนลึกให้ทราบ ตอนนี้ขอผ่านตรงนี้ก่อน
7.ปิดเครื่อง จัดการเติมเต็มหลอดทุกหลอดที่เตรียมไว้ให้แน่นหนาถาวร อย่าให้โยกเยกได้ ถ้าหลอดมีหมวกก็ใส่หมวกให้เรียบร้อย
7.1 หลอดหน้า คือหลอดชุดเล็กที่ทำหน้าที่ปรี และไดรเวอร์ ชุดนี้ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แม้จะไม่แมทซ์กันขอให้เกณฑ์ยังพอใช้ได้
7.2 หลอดชุดหลังหรือหลอดเพาเวอร์ ชุดนี้จะมีปัญหามากจะต้องแมทซ์กันพอสมควร หรือมาก ถึงมากที่สุด
ไม่งั้นเสียงลำโพงซ้ายขวาจะออกมาไม่เท่ากัน ปรับจูนยากลำบาก มีเสียงจี่ ฮัม จนช่างถอดใจก็มี
พอใส่หลอดครบแล้ว ก็ถึงเวลา กลั้นใจครั้งที่สอง สับสวิทซ์ แต่ไม่อันตรายเท่าครั้งแรก คราวนี้ต้องกลั้นใจยาวววว ราว ครึ่ง ถึง 1 นาที
แล้วจะโล่งอกทันที เมื่อมีเสียงเพลงลอดออกมาจากลำโพงซ้าย-ขวา ยิ่งใสปิ๊ง ยิ่งโล่งอกมาที่สุด ตรงกันข้าม ถ้า 1 นาทีแล้วยังเงียบ
เหงื่อจะเริ่มซึมออกหน้าผากแทน … คราวนี้ถอนใจ และถอนปลั๊กออก ไปหาอะไรกิน(ดื่ม)แก้เซ็งก่อนค่อยมาดูใหม่
—————————————-
สมมุติว่า เสียงมาใสปิ๊ง แล้วทำอะไรต่อ … อันดับแรก ตั้งสติให้ดี แล้วไปหากระดาษมา 1 แผ่น พร้อมปากกา ตีตารางลงไป
1.หลอด…. ขา .. ส่วนมากจะลงขาเพลต เพราะจะวัดไฟมาบันทึก ทั้งหลอดซ้าย- ขวา
2.หลอด….. ขา.. คราวนี้วัดไฟขาที่เป็น g2 ทั้งหลอดซ้าย- ขวา
3. RK วัดไฟตกคร่อม RK ว่ากี่โวลท์ บันทุกไว้ ทั้งหลอดซ้าย- ขวา ส่วนมากจะเท่ากัน
4. หลอดเล็ก หรือหลอดหน้า ที่ขาเพลต หลอดซ้าย- ขวา
5. หลอดเล็ก หรือหลอดหน้า ขาเพลตที่ 2 ในกรณีที่เป็นดับเบิ้ลไตรโอด
6. หลอดเล็ก หรือหลอดหน้า ขาที่เป็นไฟจาก srpp หลอดซ้าย- ขวา
7.RK หลอดหน้าทั้งหลอดซ้าย- ขวา
8.ไฟ+B +B1 +B2 +B3

ทั้ง 8 รายการนี้ให้บันทึกไว้เป็นเบื้องต้น แล้วค่อยมาหาค่ากระแสเพลตว่ากินเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับ ค่าใน Datasheets ของหลอดเบอร์นั้นแล้ว
เป็นอย่างไร เกินหรือขาดหรือพอดี เช่น หลอด Power เบอร์ KT88 ใน Datasheet ระบุ Ia=140 mA แปลว่า หลอดเบอร์นี้ทนกระแสได้สูงสุด
140 mA แต่เราบันทึกมาได้ มี RK =26v RK=350 R เราก็เอาสูตรมาคำนวณ 26/350*1000=72.28 mA แค่นี้เราก็รู้แล้วว่า กระแสเพลตไหล
72.28 mA ดูแล้วเป็น ครึ่งเดียวที่หลอดทนได้ หรือ 50% จิ๊บ ๆ หลอดไม่ร้อน หลอดทน กินไฟน้อยเสียงดี ก็ไม่ต้องไปเปลี่ยนอะไรด้านไฟ แต่มาดูว่า
เสียงที่ได้พอใจหรือยัง ทุ้มหรือเบส ไม่ต้องไปเน้นเพราะแอมป์หลอดจะมีเบสนั้นราคาเครื่องจะไม่น้อยกว่า 30k มันเกี่ยวกับหลอดเบอร์ที่หายากราคาแพง
หม้อเอาท์พุทต้องของนอก เหล็กเนื้อดี จากยุโรป หรืออย่างน้อยก็ญี่ปุ่น ราคาไม่ใช่เล่น … เอาละ ไม่เน้นก็ได้ ต่อไปพิจารณาเสียงกลาง มีมิติไหม
เสียงใหญ่อวบไหม เวที หรือสเต็จกว้างไหม เหมือนเราไปยืนหน้าเวทีวงดนตรีไหม เสียงกังวานสดใสไหม ถ้ามีตามนี้ก็แฮบปี้แล้ว….มาพิจารณาเสียงแหลม
แหลมออกสดใส ไหม กระซิบ ชิชิชชิไหม ปลายพริ้วไหม เหล่านี้เราต้องมานั่งพิจารณา ถ้าได้ตามนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรต่อ แต่อย่าเพิ่งปิดฝาเครื่อง
ให้เปิดเพลงไปเรื่อย ๆ สัก 1-3 วัน เพื่อทดสอบว่า หม้อแปลงทุกลูก ผ่านหรือไม่ โดยเฉพาะหม้อแปลงไฟตัวใหญ่สุด บางทีเจอคนพันไม่มีมาตรฐาน
ใช้เหล็กห่วย ๆเป็นแกน มันจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่ใช่ ชั่วโมง 2 ชั่วโมงนะ อาจเป็นวันหรือ 3 วัน จะสะสมความร้อนจนทนไม่ได้มันก็จะครางเหมือน
กำลังจะตาย หรือมีกลิ่นน้ำยาวานิชออกมาเหม็นคับห้องจนจะอ๊วก พอเป็นแล้ว จะไม่มีวันที่จะดีเลยมีแต่จะเลวลงไปเรื่อย ๆ สรุปคือไม่ผ่าน ต้องรื้อทิ้ง

เห็นไหม ไม่ง่ายเลย การสร้างแอมป์หลอด เหตุนี้แหละเขาถึงขายแพง บางรายตกม้าตายตั้งแต่เปิดสวิทซ์เครื่องครั้งที่สอง พอเสียงออกมา ก็มี จี่บ้าง
หรือฮัมบ้าง ชนิดเอาไปตั้งฟาร์มหมูได้เลย แบบนี้ก็ไม่ผ่านอีก … ถ้าได้ฮัมหรือ จี่แล้ว การแก้ไขนั้น ร้อยละ 10 เท่านั้นที่จะหายสนิท ร้อยละ 90 จี่ ฮัมต่อไป
พูดถึงเรื่องจี่ฮัม ทุกคนที่เข้ามาวงการนี้ต้องได้พบเจอมันทุกคน มากบ้าง น้อยบ้าง คนโชคดี มีพรสวรรค์ ก็จะเจอน้อย และระยะสั้น ๆ ที่ว่าพรสวรรค์นั้น
ก็หมายถึงพรสวรรค์ในการสังเกตุ จนสามรถตกผลึกได้เองว่า แท้จริงมันเกิดเพราะอะไร ป้องกันไม่ให้เกิดได้อย่างไร … บางคน ใส่ทั้ง filter choke
ก็ยังมีจี่ ฮัม บางคนอุตส่าห์ไปซื้อ Humpot มาใส่ ก็ยังไม่หาย บางคนก็หาวงจรสำเร็จมา Regulate เป็นไฟ DC จุดไส้หลอดแล้ว ยังจี่ ฮัม
ในทางกลับกัน บางคนก็ใส่อุปกรณ์ธรรมดาไม่ใส่ ทั้ง Filter choke Humpot Regulate DC ใด ๆ กลับเงียบสนิท จนสงัด ถ้าสงัดแล้วการฟังเพลงจะเพราะมาก
ผู้เขียนชอบฟังเพลงตอนดึก ๆ ตี 2-3 เพราะเงียบสงัด เราเปิดเครื่องเสียงในห้องแล้วหยุดเพลงโดยไม่ลดวอลลุ่ม หากเครื่องไม่สงัด จะได้ยินเสียงรบกวน
ออกมาชัดเจนมาก ถ้าเป็นแบบนั้น จะทนไม่ได้ต้องรื้อทำใหม่ ทุกวันนี้ ผู้เขียนมีแล้ว 5 แท่น ที่เงียบสนิทจนสงัด จะทำให้ครบ 7 แท่น ให้ครบวัน ใน1
สัปดาห์ ตั้งชื่อ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร-เสาร์ ตรงวันไหนเปิดชื่อนั้น ก็สนุกดีนะครับ
———————-
ตกม้าตาย ตอนจะเอา 3.15 -0-3.15v จุดไส้หลอด 12au7
เอา 3.15 และ 3.15 ไปใส่ขา 4+5 และ ขา 9 เอาขา 0 ลงกราวนด์
ก็จบ แต่อัลกอลิทึมหมุนไม่ทันตรรกะนี้เหมือนเข้าแถวฝึกซ้ายขวา
สั่งไปซ้ายกลับหันขวา ยีนส์ตระกูลเราเป็นหมด
———————–
กฏเรามี 10 ข้อ(ทำได้เกือบทุกข้อ ยกเว้นข้อ 9 มีบ้างโปรเจ็คละ 1-2 ครั้ง (เล็กน้อย))
1.จัดวางเลย์เอาท์ได้ดีขึ้นกว่าเดิมมากมาย
2.จัดระบียบอุปกรณ์ ของแต่ละภาคไม่ให้ใช้พื้นที่ล้ำกัน
3.บัดกรีใช้ตะกั่วน้อยที่สุด
4.ใช้สายน้อย สั้นที่สุด ลดอุปกรณ์ซ้ำซ้อน
5.ทำพื้นที่กราวนด์ให้ครอบคลุมพื้นที่แต่ละภาค
6.งดใช้ filter choke โดยเด็ดขาด
7.ต้องไม่มี จี่ ฮัม ให้ได้ยินแม้ใช้หูแนบลำโพง
8.บูรณาการณ์ r c ให้ใช้ได้ทุกเบอร์ ทุกสถานการณ์
9.หลีกเลี่ยงการโดนไฟแรงสูงดูด ให้ดูดน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย
10. ใช้เวลาในการทำ น้อยที่สุด โดยให้อยู่ใน 3 วันทำการ

 

 

 

  

 

เครื่องนี้ ทำสำเร็จแล้ว ได้กำลัง 4.6 วัตต์ที่ 8 โอห์ม ขับลำโพง ความไว 89 DB ขึ้นไปหรือลำโพงฟูลเรนจ์ สบาย ๆ
กำลังทดลอง ยังไม่ได้ปิดฝา  เสียงดีมาก มีเบสพอสมควร  เสียงกลางรายละเอียดดี สเต็จใหญ่ มีมิติให้เสียงกังวาน
เสียงแหลมสดใส พริ้ว

อ.นิคม พ.  เรียบเรียง