สังขตธรรม กับ อสังขตธรรม
สังขตธรรม (อ่านว่า สัง-ขะ-ตะ-ทำ) เป็นคำสมาส มาจากภาษาบาลีว่า สงฺขต (อ่านว่า สัง-ขะ-ตะ) แปลว่า
รวมกัน ประกอบกัน ปรุงแต่ง เกิดขึ้นด้วยเหตุร่วมกัน กับคำว่า ธรรม แปลว่า ธรรมชาติ.
สังขตธรรม จึงเป็นธรรมชาติที่ปรุงแต่งด้วยเบญจขันธ์ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เช่น มนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ล้วนประกอบด้วยเบญจขันธ์. สังขตธรรมมีการเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง และดับไป
เวียนอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ปรากฏอยู่ในทุก ๆ สิ่ง เช่น เซลล์ในร่างกายเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลง เสื่อม และสิ้นไป
ในขณะเดียวกันจะมีเซลล์ใหม่เกิดขึ้นมาทดแทน
ส่วน อสังขตธรรม เป็นคำตรงข้ามกับสังขตธรรม หมายถึง ไม่มีสิ่งปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เมื่อไม่เกิดก็จะไม่เสื่อมสลาย และไม่มีการดับสูญ.
พระพุทธเข้าทรงตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย สังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม ๓ อย่าง เหล่านี้ มีอยู่.
๓ อย่างอย่างไรเล่า ? ๓ อย่างคือ :-
๑. มีการเกิดปรากฏ (อุปฺปาโท ปญฺญายติ);
๒. มีการเสื่อมปรากฏ (วโย ปญฺญายติ);
๓. เมื่อตั้งอยู่ก็มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ
(ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ).
ภิกษุทั้งหลาย สามอย่างเหล่านี้แล คือ สังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม.
อสังขตลักษณะ
ภิกษุทั้งหลาย ! อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม
๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่.
๓ อย่างอย่างไรเล่า ? ๓ อย่างคือ :-
๑. ไม่ปรากฏมีการเกิด (น อุปฺปาโท ปญฺญายติ);
๒. ไม่ปรากฏมีการเสื่อม (น วโย ปญฺญายติ);
๓. เมื่อตั้งอยู่ ก็ไม่มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ
(น ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ).
ภิกษุทั้งหลาย ! สามอย่างเหล่านี้แล คือ อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม.
—————————–
ธรรมมี ๒ อย่างคือ สังขตธรรม กับ อสังขตธรรม *สังขตธรรม* คือธรรมทั้งหลายที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งด้วยปัจจัย ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร
สังขตธรรมได้แก่ จิต เจตสิก รูป
อสังขตธรรม ได้แก่ นิพพาน